วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความหมายของวันวิสาขบูชา
คำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ดังนั้น วิสาขบูชา จึงหมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6
การกำหนดวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตามในบางปีของบางประเทศอาจกำหนด วันวิสาขบูชา ไม่ตรงกับของไทย เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไปตามเวลาของประเทศนั้นๆ
ประวัติวันวิสาขบูชาและความสำคัญของวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่เกิด 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน 6 แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการ ได้แก่
1. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา" เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส 4 ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และมีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า และเมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า "พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย" แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส
2. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3 คือ
-ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ " คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
-ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย
- ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา
3. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป) เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพาน เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธุ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น
ประวัติความเป็นมาของ วันวิสาขบูชา ในประเทศไทย
ปรากฎหลักฐานว่า วันวิสาขบูชา เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา นั่นคือ เมื่อประมาณ พ.ศ.420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกา พระองค์อื่นๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา ส่วนการเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเพราะประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากมีพระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย สำหรับการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศ สรุปได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ หลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2360) ทรงมีพระราชดำริที่จะให้ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรก ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้ทำบุญ ทำกุศล โดยทั่วหน้ากัน การรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครานี้ จึงถือเป็นแบบอย่างถือปฏิบัติในการประกอบพิธี วันวิสาขบูชา ต่อเนื่องมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ
วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดวันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน
การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา
การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา จะแบ่งออกเป็น 3 พิธี ได้แก่
1. พิธีหลวง คือ พระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบในวันวิสาขบูชา 2. พิธีราษฎร์ คือ พิธีของประชาชนทั่วไป
3. พิธีของพระสงฆ์ คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจ
กิจกรรมใน วันวิสาขบูชา
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
2. จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ
8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
หลักธรรมที่สำคัญใน วันวิสาขบูชา ที่ควรนำมาปฏิบัติ
ใน วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรยึดมั่นในหลักธรรม ซึ่งหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่
1. ความกตัญญู คือ การรู้คุณคน เป็นคุณธรรมที่คู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึงการตอบแทนคุณที่มีผู้ทำไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ เป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง บิดามารดาและลูก ครูอาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ฯลฯ ในพระพุทธศาสนา เปรียบพระพุทธเจ้าเสมือนกับบุพการี ผู้ชี้ให้เห็นทางหลุดพ้นแห่งความทุกข์ ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงควรตอบแทนด้วยความกตัญญูกตเวทีด้วยการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และดำรงพระพุทธศาสนาให้อยู่สืบไป
2. อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
-ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต สภาวะที่ทนได้ยาก ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ส่วนทุกข์จร คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพลาดจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือ ความยากจน เป็นต้น
-สมุทัย คือ ต้นเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของการเกิดทุกข์ และสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจาก "ตัณหา" อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
-นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพที่ความทุกข์หมดไป เพราะสามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้
-มรรค คือ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เป็นการปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหา มี 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ
3. ความไม่ประมาท คือการมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ล้วนต้องใช้สติ เพราะสติคือการระลึกได้ การระลึกได้อยู่เสมอจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งความประมาทนั้นจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา ดังนั้นในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยความมีสติ

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

  1. การนับเวลาและการแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์
    ประวัติศาสตร์ คือ การศึกษาเรื่องราวต่างๆ ในอดีตโดยมีความสัมพันธ์ก่อให้เกิดความง่ายต่อการทำความเข้าใจในเหตุการณ์ต่างๆ โดยมีระยะเวลาเป็นตัวกำหนดในการศึกษาเรื่องราว
    การนับเวลาและการเปรียบเทียบศักราช
    ในการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มักนิยมใช้การระบุช่วงเวลาเพื่อให้ทราบถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การนับเวลาแบบไทย และการนับเวลาแบบสากล
    การนับเวลาแบบไทย
    ในประวัติศาสตร์ไทย จะมีการบันทึกเรื่องราวต่างๆ โดยมีการอ้างอิงถึงการนับช่วงเวลาแตกต่างกันไป ตามแต่ละท้องถิ่นมีดังนี้
    1.พุทธศักราช(พ.ศ.) เป็นการนับเวลาทางศักราชในกลุ่มผู้นับถือพระพุทธศาสนา โโยเริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ให้นับเป็นพุทธศักราชที่1 ทั้งนี้ประเทศไทยจะนิยมใช้การนับเวลาแบบนี้ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนมาเป็นที่แพร่หลายและระบุใช้กันอย่างเป็นทางการในสมัยพระบาท สมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6) ในปีพุทธศักราช 2455
    2. มหาศักราช(ม.ศ.) การนับศักราชนี้จะพบในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย และอยุธยาตอนต้นโดยคิดขึ้นจากกษัตริย์ของอินเดีย (พระเจ้ากนิษกะ) ซึ่งพ่อค้าอินเดียและพวกพราหมณ์นำเข้ามาเผยแพร่ในเวลาติดต่อการค้ากับไทยในสมัยโบราณ จะมีปรากฎในศิลาจาลึกเพื่อบันทึกเรื่องราวเหตุกาณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าปีมหาศักราชที่1 จะตรงกับปีพุทธศักราช 621
    3.จุลศักราช ( จ.ศ.)จัดตั้งขึ้นโดยสังฆราชมนุโสรหัน แห่งอาณาจักรพุกาม เมื่อปีพุทธศักราช 1181โดยไทยรับเอาวิธ๊การนับเวลานี้มาใช้ในสมัยอยุธยา เพื่อการคำนวณทาง โหราศาสตร์ ใช้บอกเวลาในจารึก ตานาน พระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ ต่างๆ จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่5 ) จึงเลิกใช้
    4.รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ) การนับเวลาแบบนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่5)ทรงตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช2432โดยกำหนดให้กำหนดให้นับปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทะยอดฟ้าจฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2325 เป็นรัตนโกสินทร์ศกที่1 และให้เริ่มใช้ศักราชนี้ในทางราชการตั้งแต่วันที่1 เมษายน ร.ศ.108 (พ.ศ.2432) เป็นต้นมา
    การนับเวลาแบบสากล
    1. คริสต์ศักราช (ค.ศ. )เป็นการนับเวลาทางศักราชของผู้นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งถือเป็นการนับเวลาที่นิยมใช้กันมาทั่วโลก โดยคริสต์ศักราชที่1 เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเยซูคริสต์ประสูต(ตรงกับ พ.ศ.543)และถือระยะเวลาที่อยู่ก่อนคริสต์ศักราชลงไป จะเรียกว่าสมัยก่อนคริสต์ศักราชหรือก่อนคริสต์กาล
    2. ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) เป็นการนับเวลาทางศักราชของผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยอาศัยปีที่ท่านนบีมูฮัมหมัดได้อพยพจากเมืองเมกกะไปยังเมืองมาดินา เป็นปีเริ่มต้นของศักราชอิสลามซึ่งตรงกับวันที่ 6 กรกฏาคม ค.ศ. 622
    อย่างไรก็ตาม การนับศักราชแบบต่างๆ ในบางครั้งบางเหตุการณ์ก็ไม่ได้ระบุความชัดเจนไว้ แต่อาจกล่าวการนับเวลาอย่างกว้างๆ ไว้ ซึ่งนิยมเรียกกันใน 3 รูปแบบ ดังนี้
    ทศวรรษ (decade) คือ รอบ 10 ปี นับจากศักราชที่ลงท้ายด้วย 1 ไปจนถึงศักราชที่ลงท้ายด้วย 0 เช่น ทศวรรษที่ 1990 ตามคริสต์ศักราช หมายถึง ค.ศ.1991-2000
    ศตวรรษ (century) คือ รอบ 100ปี นับจากศักราชที่ลงท้าย 1 ไปจนครบ 100ปีในศักราชที่ลงท้สยด้วย00 เช่น พุทธศตวรรษที่26 คือ พ.ศ.2501-2600
    สหัสวรรษ (millenium) คือ รอบ 1000 ปี ศักราชที่ครบแต่ละสหัสวรรษจะลงท้ายด้วย000 เช่น สหัสวรรษที่ 2 นับตามพุทธศักราช คือ พ.ศ. 1001-2000
    หลักเกณฑ์การเรียบเทียบศักราชในระบบต่างๆ
    การนับศักราชที่แตกต่างกัน จะทำให้เกิดความสับสนและไม่ชัดเจนในการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ ดั้งนั้น การเปรียบเทียบศักราชให้เป็นแบบเดียวกัน จะช่วยให้สามารถศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้เข้าใจมากขึ้น รวมทั้งทำให้ทราบว่าในช่วงศักราช หรือช่วงเวลาเดียวกันในแต่ละภาคของโลก เกิดเหตุการณณ์ สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ อะไรบ้าง ซึ่งการเปรียบเทียบศักราชสามารถกระทำได้ง่ายๆ โดยนำตัวเลขผลต่าง ของอายุศักราชแต่ศักราชมาบวกหรือลบกับศักราชที่เราต้องการตามหลักเกณฑ์ดังนี้
    ม.ศ.+621=พ.ศ.
    พ.ศ.-621=ม.ศ.
    จ.ศ.+1181=พ.ศ.
    พ.ศ.-1181=จ.ศ.
    ร.ศ.+2325=พ.ศ.
    พ.ศ.-2325=ร.ศ.
    ค.ศ.+543=พ.ศ.
    พ.ศ.-543=ค.ศ.
    ฮ.ศ.+621=ค.ศ
    ค.ศ.-621=ฮ.ศ.
    ฮ.ศ.+1164=พ.ศ.
    พ.ศ.-1164=ฮ.ศ.
การแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์

การนับเวลาเป็นศักราชจะมีประโยชน์เพื่อทำให้ทราบเรื่องราวในประวัติศาสตร์ แต่ในบางครั้งเราอาจจะนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตมาระบุเป็นการแบ่งช่วงเวลาได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์จะสามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ ตามระบบสากล และตามแบบไทย
การแบ่งช่วงเวลาตามแบบสากล
1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์ตีความจากหลักฐานที่มีการค้นพบ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ โครงกระดูก งานศิลปะต่างๆ โดยรวมจะเห็นว่าในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ มักทำด้วยหิน และโลหะ จึงเรียกว่า ยุคหิน และยุคโลหะ
2. สมัยประวัติศาสตร์ เริ่มต้นเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักคิดประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้น เพื่อใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรม จึงทำให้รับรู้เรื่องราวทางประวัติสาสตร์ให้มากขึ้น การบันทึกในระยะแรกจะปรากฏอยู่ในกระดูก ไม้ไผ่ แผ่นหิน ใบลาน เป็นต้น
สมัยประวัติศาสตร์นิยมแบ่งเป็นช่วงเวลาต่างๆ ดังนี้
1) ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ แต่ละประเทศจะเริ่มไม่พร้อมกัน ในสมัยประวัติศาสตร์สากลเริ่มตั้งแต่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ อารยธรรมกรีก-โรมันและสิ้นสุดใน ค.ศ.476 เมื่อกรุงโรมแตก
2) ประวัติศาสตร์สมัยกลาง เริ่มภายหลังที่กรุงโรมแตกในค.ศ. 476 จนกระทั่งค.ศ. 1453 เมื่อพวกที่นับถือศาสนาอิสลามตีกรุงคอนสเตนติโนเปิลของโรมันตะวันออกแตกจนกระทั่งสิ้น สุดสงครามโลกครั้งที่ 2
3) ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เริ่มหลังจากที่กรุงคอนสเตนติโนเปิลแตกจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
4) ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เริ่มภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน
การแบ่งยุคสมัยดังกล่าว นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้เข้าใจช่วงเวลาต่างๆ ได้ง่าย เพราะไม่ได้มีการกล่าวถึงศักราช แต่ในประวัติศาสตร์ไทยไม่ค่อยนิยมใช้ มักจะใช้อาณาจักรหรือราชธานีเป็นตัวกำหนดแทน

การแบ่งช่วงเวลาตามแบบไทย
การแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ไทย จะมีความสอดคล้องและความแตกต่างจากแบบสากล กล่าวคือในส่วนที่สอดคล้อง คือ ในสมัยก่อนประวัติสาสตร์จะมีการแบ่งยุคหินและยุคโลหะ แต่ในความแตกต่าง เมื่อมาถึงสมัยประวัติศาสตร์จะจัดแบ่งตามความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ดังรูปแบบต่อไปนี้
1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นช่วงที่ยังไม่มีการใช้ตัวอักษรในการบันทึกเรื่องราวต่างๆ จะอาศัยหลักฐานที่มีการขุดค้นพบเพื่อการวิเคราะห์ตีความ เช่น โครงกระดูก เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งการดำรงชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัตศาสตร์ในประเทศไทยออกเป็นดังนี้
1). ยุคหิน เป็นยุคสมัยเริ่มแรกที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ไม่มีอยู่อาศัยแน่นอน เคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ อาศัยเครื่องมือหินกะเทาะเพื่อการล่าสัตว์ และป้องกันตัว ซึ่งในยุคหินนี้จะสามารถแบ่งเป็น 3 ยุค ดังนี้
- ยุคหินเก่า จะเป็นพวกแร่ร่อน อาศัยตามถ้ำ ใช้เครื่องมือหินกรวดกะเทาะด้านเดียวที่ไม่มีความประณีต เช่น ขวานหินกำปั้น หลักฐานที่พบในประเทศไทย ได้แก่ บริเวณบ้านแม่ทะ และบ้านดอลมูล จ. ลำปาง รวมถึงที่บ้านเก่า ต. จระเข้เผือก อ. เมือง จ.กาญจนบุรี
- ยุคหินกลาง จะเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นโดยเครื่องมือหินจะมีความประณีตยังอาศัยอยู่ในถ้ำ และนำเอาวัสดุธรรมชาติมาดัดแปลงเป็นยอุปกรณ์ในการดำรงชีวิต ซึ่งพบได้จากเครื่องประดับเครื่องปั้นดินเผา หลักฐานที่พบในประเทศไทย ได้แก่ บริเวณถ้ำผี จ.แม่ฮ่องสอน
-ยุคหินใหม่มนุษย์ในยุคนี้จะเริ่มรู้จักการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย มีการสร้างเครื่องมือ ที่เรียกว่า ขวานหินขัด หรือขวานฟ้า รวมทั้งการสร้างภาชนะเครื่องปั้นดินเผา และการนำกระดูกสัตว์มาประยุกต์ดัดแปลงเป็นเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ หลักฐานที่พบในประเทศไทย ได้แก่ บริเวณบ้านโนนกทา ต.บ้านนาดี อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และที่ถ้ำผาแต้ม อ.โขงเจียน จ. อุบลราชธานี
2.) ยุคโลหะ เป็นยุคที่มนุษย์รู้จักใช้แร่ธาตุมาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ยุคย่อย ได้แก่
- ยุคสำริด โดยมนุษย์ในยุคนี้มีพัฒนาการความคิดในการประดิษฐ์เครื่องมือต่างๆ โดยเอาสำริด คือ แร่ทองแดงผสมกับดีบุก มาหล่อหลอมเป็นอุปกรณ์ต่างๆ ใช้ในการดำรงชีวิต รวมถึงมีการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์เด่นหลักฐานที่พบในประเทศไทย ได้แก่ บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี
- ยุคโลหะ มนุษย์ในยุคนี้จะเป็นชุมชนเกษตรที่มีการขยายตัวใหญ่ขึ้น มีการติดต่อกับชุมชนอื่นๆ เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สำหรับเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จะนำเอาแร่เหล็กมาหลอมสร้างเป็นอุปกรณ์ เนื่องจากจะมีความทนแข็งแรงมากกว่า รวมถึงรู้จักการสร้างพิธีกรรมโดยอาศัยภาชนะดินเผาต่างๆ ตกแต่งให้เกิดความสวยงาม หลักฐานที่พบในประเทศไทย ได้แก่ บ้านดอลตาเพรช อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี รวมถึงหมู่บ้านใหม่ชัยมงคล จ. นครสวรรค์
2. สมัยประวัติศาสตร์ไทย การเข้าสู่ช่วงเวลาสมัยประวัติศาสตร์ไทย นักวิชาการได้กำหนดจากหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในเมืองไทย คือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พ.ศ. 1826 สำหรับการแบ่งยุคสมัยของไทย นิยมแบ่งตามราชอาณาจักรหรือราชธานี คือ สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ หรือแบ่งตามลักษณะทางการเมืองการปกครองเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช สมัยประชาธิปไตยเป็นต้น
กล่าวโดยสรุป การแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ไทย สามารถจัดแบ่งอย่างกว้างๆ ได้เป็น 2 ช่วง ดังนี้
1) สมัยก่อนประวัติศาสตร์ไทย เป็นสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีการคิดตังอักษรขึ้นใช้สำหรับบันทึกเรื่องราวต่างๆ การศึกษาทางประวัติศาสตร์ จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์และตีความจากหลักฐาน ชั้นต้นที่ได้จาการค้นพบตามท้องที่ต่างๆในประเทศไทย เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยหิน โลหะสำริด เหล็ก เครื่องประดับ ภาชนะดินเผา โครงกระดูก ภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ เป็นต้น โดยแบ่งเป็นยุคสมัยต่างๆ ตามพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีเครื่องมือเครื่องใช้
2) สมัยประวัติศาสตร์ไทย เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นตัวอักษรขึ้นใช้แล้ว นักวิชาการจึงอาศัยหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเช่น จารึก จดหมายเหตุบันทึกการเดินทาง พงศาวดาร เป็นต้น และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งที่เป็นโบราณสถาน เช่น เจดีย์ปราสาทหิน วัด เป็นต้น และโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เงินเหรียญ เครื่องมือเครื่องใช้รวมทั้งงานศิลปะต่างๆ เป็นต้น มาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ตีความ เพื่อให้ทราบประวัติความเป็นมาในอดีตให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

แบบทดสอบ

http://quickr.me/AHZ3zgV